ติดตามข้อมูลข่าวในการลงทุนทองคำได้ที่
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2554 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2554 มีการหดตัวอย่างชัดเจน เนื่องจากผลของวิกฤตอุทกภัยที่กระทบต่อการผลิตโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม
ขณะเดียวกันได้ส่งผลให้การใช้จ่ายภายในประเทศและการส่งออกหดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยเฉพาะการใช้จ่ายภายในประเทศ สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ หดตัวร้อยละ -1.0 เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.3
ขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวลงสูงถึงร้อยละ -62.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -38.8 จากโรงงานผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆ หยุดการผลิต เนื่องจากขาดชิ้นส่วนในการผลิตในช่วงเหตุอุทกภัยและชิ้นส่วนในเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยต้องหยุดการผลิต สำหรับการลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงเช่นกัน สะท้อนจากยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัวร้อยละ -71.5 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -41.8
ขณะที่การส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2554 หดตัวลง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่า 15.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -12.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสินค้าส่งออกที่หดตัวลงมากมาจากสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ -26.7 ขณะที่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรยังคงขยายตัวต่อเนื่อง”
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนพฤศจิกายน 2554 สะท้อนว่า ปัญหาอุทกภัยส่งผลให้การผลิตในภาคเกษตรและภาคบริการหดตัวลงมากจากเดือนก่อนหน้า
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงค่อนข้างแรง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ที่หดตัวถึงร้อยละ -48.6 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -30.1 ขณะที่เครื่องชี้ด้านการผลิตภาคเกษตรกรรมหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -7.2 โดยเป็นการหดตัวจากผลผลิตข้าวนาปีเป็นสำคัญ
สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศพบว่ามีการหดตัวเช่นกัน โดยในเดือนพฤศจิกายน 2554 มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 1.21 ล้านคน หดตัวร้อยละ -17.9 เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 18 เดือน หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเดือนพฤษภาคม 2553
"เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2554 มีสัญญาณการหดตัวลงอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์อุทกภัยทำให้ภาคการผลิตโดยเฉพาะการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเกิดภาวะชะงักงัน ทำให้ สศค. ทำการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2554 จะขยายตัวร้อยละ 1.1"
รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2554
"เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2554 ส่งสัญญาณเศรษฐกิจไทยหดตัวลงอย่างชัดเจนและหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน จากผลของภาวะวิกฤตอุทกภัย"
1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนพฤศจิกายน 2554 มีสัญญาณหดตัวลงจากผลกระทบของอุทกภัย สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ หดตัวลงร้อยละ -1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.3 จากปัจจัยอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.9 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.0
ในขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนหดตัวลง สะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่หดตัวร้อยละ -62.1 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน นับจากที่ขยายตัวติดต่อกัน 3 เดือน ภายหลังเหตุการณ์สึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น ผลจากโรงงานผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆ หยุดการผลิต เนื่องจากขาดชิ้นส่วนในการผลิตในช่วงเหตุอุทกภัย เช่นเดียวกับปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2554 หดตัวที่ร้อยละ -11.0 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนพฤศจิกายน 2554 อยู่ที่ระดับ 61.0 จุด ปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 122 เดือนนับตั้งแต่กันยายน 2544 สาเหตุหลักมาจาก 1) ผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร และนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ซึ่งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและทรัพย์สินของประชาชนและทางราชการ 2) ความกังวลต่อค่าครองชีพหลังจากราคาสินค้ายังทรงตัวในระดับสูงจากเหตุการณ์น้ำท่วม และ 3) แนวโน้มการชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกจากปัญหาหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรป
2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนพฤศจิกายน 2554 ส่งสัญญาณหดตัวลงเช่นกัน สะท้อนจาก ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2554 หดตัวสูงที่ร้อยละ -71.5 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -41.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนพฤศจิกายน 2554 หดตัวร้อยละ -4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการหดตัวครั้งแรกนับจากเดือนพฤศจิกายน 2552 แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่ามีการนำเข้าสินค้ารายการพิเศษ ได้แก่ เครื่องบิน และแท่นขุดเจาะลอยน้ำ โดยปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนหักรายการพิเศษมีการหดตัวร้อยละ -7.1 หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างที่วัดจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวลงเช่นกัน โดยหดตัวร้อยละ -18.6 หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -17.0 สำหรับยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวร้อยละ -0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ร้อยละ 11.7 ผลมาจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศซึ่งส่งผลทำให้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างต้องหยุดชะงัก ประกอบกับราคาวัสดุก่อสร้างมีการปรับตัวสูงขึ้น
3. การส่งออกชะลอตัวลงมากจากผลกระทบของภาวะวิกฤตอุทกภัยที่กระทบต่อภาคการผลิตเพื่อส่งออก โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม โดยการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤศจิกายน 2554 มีมูลค่า 15.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -12.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.3 โดยเป็นการหดตัวลงของการส่งออก เป็นผลจากปริมาณการส่งออกที่หดตัวร้อยละ -14.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในขณะที่ราคาสินค้าส่งออกขยายตัวชะลอลงอยู่ในระดับที่ร้อยละ 2.5 ทั้งนี้ หากพิจารณาสินค้าส่งออกรายประเภท พบว่า สินค้าอุตสาหกรรมมีการส่งออกหดตัวมากสุด โดยหดตัวร้อยละ -26.7 สินค้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวร้อยละ -47.4 ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบหดตัวร้อยละ -54.7 เครื่องใช้ไฟฟ้าหดตัวร้อยละ -21.9 อัญมณีและเครื่องประดับหดตัวร้อยละ -10.8 เป็นต้น
ขณะที่สินค้าส่งออกในหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรยังคงขยายตัวร้อยละ 11.3 สินค้าสำคัญ ได้แก่ ยางพาราขยายตัวร้อยละ 24.1 ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังขยายตัวร้อยละ 20.2 สินค้าในกลุ่มอาหารขยายตัวร้อยละ 11.3 เป็นต้น
สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญ พบว่า ตลาดส่งออกหลักหดตัวร้อยละ -16.9 ได้แก่ ตลาดสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ยังคงหดตัวลงร้อยละ -28.8 -13.9 และ -8.7 ตามลำดับ ขณะที่ตลาดส่งออกที่มีศักยภาพสูงหดตัวร้อยละ -8.4 ได้แก่ จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน หดตัวร้อยละ -9.7 -43.6 -11.3 และ -11.0 ตามลำดับ สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แต่มีสัญญาณแผ่วลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนพฤศจิกายน 2554 อยู่ที่ 16.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 21.5 โดยเป็นผลจากการหดตัวลงของปริมาณและราคาการนำเข้าสินค้าที่ยังคงขยายตัวร้อยละ -10.1 และ 8.5 ตามลำดับ
ทั้งนี้ ผลจากมูลค่าการส่งออกที่น้อยกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้า ทำให้ดุลการค้าในเดือนพฤศจิกายน 2554 ขาดดุล -1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
4. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนพฤศจิกายน 2554 พบว่า การจัดเก็บรายได้รัฐบาลชะลอตัวลง และต่ำกว่าประมาณการเล็กน้อย ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลหดตัวจากปีที่แล้ว โดยผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น) ในเดือนพฤศจิกายน 2554 เท่ากับ 137.8 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่าประมาณการจำนวน 923 ล้านบาท เนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ โดยภาษีที่ได้รับผลกระทบที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการจำนวน 2.9 พันล้านบาท ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการจำนวน 4.3 พันล้านบาท จากโรงงานผลิตรถยนต์สำคัญต่างๆ หยุดการผลิต เนื่องจากขาดชิ้นส่วนในการผลิต ประกอบกับปัญหาทางด้านการขนส่งในช่วงที่เกิดเหตุการณ์อุทกภัย
สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนพฤศจิกายน 2554 มีจำนวน 150.2 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -32.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งออกเป็น 1) รายจ่ายปีงบประมาณปัจจุบันจำนวน 131.9 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -36.4 โดยรายจ่ายปีปัจจุบันแบ่งออกเป็นรายจ่ายประจำจำนวน 127.2 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -35.2 และรายจ่ายลงทุนจำนวน 4.7 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -56.7 และ 2) รายจ่ายเหลื่อมปีจำนวน 18.4 พันล้านบาท
ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ประกอบด้วยรายจ่ายเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 13.5 พันล้านบาท รายจ่ายเงินอุดหนุนของสำนักงานประกันสังคมจำนวน 7.7 พันล้านบาท งบชำระหนี้ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจำนวน 7.5 พันล้านบาท และรายจ่ายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจำนวน 4.5 พันล้านบาท
5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนพฤศจิกายน 2554 สะท้อนว่า ปัญหาอุทกภัยส่งผลให้การผลิตในภาคเกษตรและภาคบริการหดตัวลงมากจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงค่อนข้างแรง โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ในเดือนพฤศจิกายน 2554 หดตัวร้อยละ -48.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -30.1 โดยเป็นการหดตัวในทุกดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยกเว้นดัชนีผลผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่ยังคงขยายตัวได้ร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.7 สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2554 ปรับลดลงเป็นเดือนที่ 6 โดยอยู่ที่ระดับ 87.5 ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 29 เดือน สำหรับเครื่องชี้ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร (เบื้องต้น) ในเดือนพฤศจิกายน 2554 หดตัวร้อยละ -7.2 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการหดตัวจากผลผลิตข้าวนาปีเป็นสำคัญ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรในเดือนพฤศจิกายน 2554 หดตัวที่ร้อยละ -1.5 ซึ่งนับเป็นการหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี นับจากตุลาคมปี 2552 ทำให้รายได้ของเกษตรกรที่แท้จริงหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -13.4 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 18.7 เช่นเดียวกับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2554 พบว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 1.21 ล้านคน หดตัวร้อยละ -17.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.0 เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 18 เดือน หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเดือนพฤษภาคม 2553 ผลจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้ประเทศจำนวน 42 ประเทศ ประกาศเตือนนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้าไทย และส่งผลต่อจิตวิทยาของการเดินทางของนักท่องเที่ยว
6. เสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2554 อยู่ที่ระดับร้อยละ 4.2 เทียบกับเดือนตุลาคมสูงขึ้นร้อยละ 0.21 เป็นการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม โดยสินค้าอาหารสดและสินค้าอุปโภคที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากผลกระทบภาวะน้ำท่วม ได้แก่ ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ปลาและสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักสด เครื่องประกอบอาหาร เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวในระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.9 และเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมสูงขึ้นร้อยละ 0.03 สำหรับอัตราการว่างงานล่าสุดในเดือนตุลาคม 2554 (เบื้องต้น) อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนคนว่างงานจำนวน 2.2 แสนคน ลดลงจากเดือนกันยายนที่มีผู้ว่างงาน 3.0 แสนคน
โดยแบ่งเป็นการว่างงานในภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการ และผู้ไม่เคยทำงานมาก่อน จำนวน 3.4 7.7 5.8 และ 5.0 หมื่นคน ตามลำดับ สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 41.03 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2554 อยู่ในระดับสูงที่ 178.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.1 เท่า
โดย กรุงเทพธุรกิจ
ติดตามข้อมูลข่าวในการลงทุนทองคำได้ที่

เลือก ลงทุนได้ตามชอบ กับฮั่วเซ่งเฮง ได้แล้ววันนี้ กับกองทุนรวมหลากหลาย บลจ. ชั้นนำ เรามีผู้เชียวชาญให้คำปรึกษาอย่างมืออาชีพ โดยโปรโมชั่นจะเป็นไปตามเงื่อนไขของบลจ.ต่างๆ และสามารถซื้อขาย เพื่อเก็บคะแนนสะสมผ่านบัตรเครดิตได้ สนใจติดต่อ คุณเพชร 081 431 8949 หรือ 083 050 0766 อีเมล์ toucht@gmail.com
หมายเหตุ การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูล และข้อมูลภาษีก่อนการตัดสินใจลงทุน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น