วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555

เวทีดาวอสย้ำ "ทุนนิยม" ตัวการสร้างความเหลื่อมล้ำ

ติดตามข้อมูลข่าวสาร ได้ที่



เวทีดาวอสย้ำ "ทุนนิยม" ตัวการสร้างความเหลื่อมล้ำ


นักลงทุนจากหลากหลายประเทศเห็นพ้องว่า "ทุนนิยม" เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้ความไม่เท่าเทียมขยายวงมากขึ้น

ข้อมูลจาก "บลูมเบิร์ก โกลบอล โพล" ที่สำรวจความเห็นของบรรดานักธุรกิจและนักการเงินชั้นนำที่ร่วมประชุมในเวทีดาวอส 1,209 คน ระหว่าง 23-24 มกราคม พบว่า ความไม่เท่าเทียมเรื่องรายได้สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ และรัฐบาลจำเป็นต้องลงมือจัดการเรื่องนี้ ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดการชุมนุมคล้าย "ยึดวอลล์สตรีต" เกิดขึ้นทั่วโลก

ผลสำรวจยังสะท้อนถึงบทบาทของอุตสาหกรรมการเงินที่มีในสังคม โดยผู้บริหาร 7 ใน 10 คน มองว่า ธนาคารมีอิทธิพลต่อรัฐบาลมากเกินไป

นายไมเคิล เดิร์กส หัวหน้านักยุทธศาสตร์ของเอฟเอ็กซ์โปร ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส ระบุว่า ทุนนิยมกำลังเผชิญวิกฤต เนื่องจากรายได้และความร่ำรวยที่ไม่เท่าเทียมกลายเป็นปัญหาใหญ่และขยายวงมากขึ้นในเขตเศรษฐกิจตะวันตก ทั้งยังทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมของคนแต่ละวัย จึงจำเป็นที่รัฐบาลต้องเข้ามาแทรกแซงขนานใหญ่ เพราะเศรษฐกิจไม่สามารถอยู่รอดได้ หากไม่มีการลงทุนเพื่อคนเจนเนอเรชั่นใหม่ๆ

ทั้งนี้ มากกว่า 70% ของคนที่ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า ระบบมีปัญหา ราว 32% มองว่า จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่างๆ ส่วน 39% มองว่า ความสับสนวุ่นวายจะคลี่คลายลงได้เอง

ราว 70% มองว่า ปัญหาเศรฐกิจในยุโรปจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางสังคมในปี 2555 ไม่ว่าจะเป็นการก่อจลาจล หรือการก่อความไม่สงบ ขณะที่นักลงทุนอเมริกัน 459 คน ชื่นชมทุนนิยมมากกว่านักลงทุนจากที่อื่นๆ และราว 1 ใน 5 ยอมรับว่าต้องมีการยกเครื่องระบบ

แต่นักลงทุนอเมริกันยังต้องระวังมาตรการของรัฐบาลที่จะรับมือกับความไม่เท่าเทียมเรื่องรายได้ โดยผู้ตอบแบบสอบถามครึ่งหนึ่งมองว่า การเข้ามาแทรกแซงของภาครัฐอาจเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ขณะที่มากกว่า 3 ใน 4 ของนักลงทุนยุโรป และกว่า 4 ใน 5 ของนักลงทุนเอเชีย มองเห็นบทบาทของรัฐในการจัดการเรื่องนี้

นายเดวิด รูเบนสไตน์ ผู้ร่วมก่อตั้งคาร์ไลล์ กรุ๊ป กล่าวในวงเสวนาหัวข้อการค้าเสรีในอนาคต ว่า โมเดลทุนนิยมสไตล์จีนอาจจะแพร่หลาย หากสหรัฐและชาติยุโรปตะวันตกไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ได้

ทั้งนี้ ใกล้กับบริเวณการประชุมมีป้ายต่อต้านอุตสาหกรรมการเงินและคนรวยที่มีเพียง 1% ในสังคม โดยมีเนื้อความว่า "ยึดดับเบิลยูอีเอฟ" (OccupyWEF) ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากกลุ่มยึดวอลล์สตรีต ซึ่งสอดคล้องกับความกังวลของผู้ตอบแบบสอบถามครั้งนี้

โดยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า ความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วน 2 ใน 3 คิดว่า เป็นเรื่องเหมาะควรที่รัฐบาลจะหานโยบายเพื่อรับมือกับเรื่องนี้ และ 48% มองว่าสามารถดำเนินการเรื่องนี้เมื่อไรก็ได้ ขณะที่น้อยกว่า 1 ใน 5 เห็นว่านี่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องจัดการ

ด้านนายสตีฟ มอร์ตัน ผู้อำนวยการนาติซิส ซิเคียวริตี้ส์ ในนิวยอร์ก ระบุว่า ฐานะที่ไม่เท่าเทียมเป็นปัญหาใหญ่และขยายวงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ปลอดภัยนัก เพราะคนระดับล่างของปิระมิดไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อสิ่งต่างๆ และช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้ไปต่อได้

น่าสนใจว่า อุตสาหกรรมการเงินถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย เพราะอิทธิพลที่มากเกินไป โดยราว 2 ใน 3 มองเห็นว่าการกระทำของนายแบงก์ถูกขับเคลื่อนด้วยความละโมบและเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ และมากกว่า 4 ใน 5 ส่งเสียงเรื่องได้โบนัสก้อนโต ขณะที่บริษัทไม่ได้ทำผลงานดีขนาดนั้น มีเพียง 14% ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่แบงก์จะต้องปรับกฎระเบียบใหม่ แทนที่จะใช้กรอบความคิดใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้ม

นายแอนสัน โรสวอลล์ จากบริษัทบริการการเงินในออสเตรเลีย "บีบีวาย" กล่าวว่า วัฒนธรรมของแบงก์เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในมุมที่คนในสังคมส่วนใหญ่มองว่า แบงก์ดำเนินการตามเป้าเรื่องรายได้ และไม่เคารพต่อผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชน อย่างความจริงที่แบงก์รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล ในขณะที่ผู้คนตกงานและสูญเสียบ้านโดยไม่ได้รับการเหลียวแล ซึ่งนี่อาจทำลายชื่อเสียงของสถาบันการเงินหลักไปตลอดกาล

ทว่านักลงทุนจากสหรัฐไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการยกเครื่องกฎระเบียบแบงก์ มีเพียง 1 ใน 3 ที่เชื่อว่าแบงก์จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ ผิดกับนักลงทุนจากยุโรปและเอเชียที่มองความสำคัญของเรื่องนี้


ที่มา กรุงเทพธุรกิจ http://bit.ly/z7i6h7


ติดตามข้อมูลข่าวสาร ได้ที่


 
เลือก ลงทุนได้ตามชอบ กับฮั่วเซ่งเฮง ได้แล้ววันนี้ กับกองทุนรวมหลากหลาย บลจ. ชั้นนำ เรามีผู้เชียวชาญให้คำปรึกษาอย่างมืออาชีพ โดยโปรโมชั่นจะเป็นไปตามเงื่อนไขของบลจ.ต่างๆ และสามารถซื้อขาย เพื่อเก็บคะแนนสะสมผ่านบัตรเครดิตได้ สนใจติดต่อ คุณเพชร 081 431 8949 หรือ 083 050 0766 อีเมล์ toucht@gmail.com

หมายเหตุ การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูล และข้อมูลภาษีก่อนการตัดสินใจลงทุน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...